หากจะกล่าวถึงความสำคัญของวัดโลกโมฬีตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา พบว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นในสมัยใดไม่มีหลักฐาน ปรากฏแน่ชัด แต่ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.1910 สมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงโปรดอาราธนาให้คณะของพระอุทุมพรบุปผมหาสวามีเจ้า เมืองเมาะตะมะ จำนวน 10 รูป มาสืบทอดพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา ซึ่งคณะสงฆ์เหล่านั้นได้จำพรรษาที่วัดโลกโมฬี อันเป็นสถานที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างเมือง
กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ.2070 พระเมืองแก้วได้โปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์และพระวิหารหลวง ในปี พ.ศ.2088 ได้มีการบรรจุพระอัฐิของพญาเมืองเกศเกล้าทางด้านกำแพงทิศเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอามาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภามหาเทวีขึ้นครองราชในปี พ.ศ.2088 - 2089 อันเป็นช่วงเวลาที่เหล่าขุนนางเรืองอำนาจทำให้เมืองเชียงใหม่อ่อนแอ เป็นเหตุให้สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยายกทับมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระนางจิรประภามหาเทวี จึงทรงรักษาเอกราชไว้ได้พร้อมกับทูลเชิญพระไชยราชาธิราชเสด็จมาทำบุญที่วัด โลกโมฬี และยังพระราชทานทรัพย์สร้างกู่พญาเมืองเกศเกล้าให้สมพระราชเกียรติ
ในรัชสมัยของพระนางวิสุทธิราชเทวี กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย ได้ทรงทำนุบำรุงในพระศาสนา อีกทั้งทรงเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชโลกโมฬีเจ้า จวบจนพระนางเสด็จทิวงคต ในปี พ.ศ.2121 ได้มีการถวายพระเพลิงพระนางวิสุทธิราชเทวีและบรรจุพระอัฐิไว้ภายในบริเวณพระอารามหลวงโลกโมฬี
หลังจากนั้นมาเมืองเชียงใหม่จึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่นานกว่า 200 ปี วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกเผาทำลาย แต่วัดโลกโมฬีไม่ได้ถูกเผาทำลายเนื่องจากเป็นวัดสำคัญในราชสำนักมาโดยตลอด เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชโลกโมฬีเจ้า แม้ในสมัยของพระเจ้าสุทโธธรรมราชา พ.ศ.2182 ได้ทรงมีพระราชศรัทธาถวายทานอันยิ่งใหญ่ในเดือนยี่เป็งของทุกปีกับสมเด็จพระ สังฆราชโลกโมฬีเจ้าซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่สำคัญในช่วงเวลานั้น
กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดโลกโมฬีถูกทิ้งให้ร้าง จนถึงปี พ.ศ.2502 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดโลกโมฬีเป็นโบราณสถานของชาติปี พ.ศ.2544 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่มีมติให้พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารเป็นประธานในการก่อสร้างและฟื้นฟูวัด โลกโมฬีให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา โดยมีพระ ดร.ดวงคำ อภิวัฑฺฒโน เป็นหัวหน้าสงฆ์ทำหน้าที่ดูแลรักษาตลอดมาและมีการเททองหล่อพระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถพร้อมทั้งวางศิลาฤกษ์พระวิหาร
กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 กรมการศาสนาได้อนุมัติให้ยกฐานะวัดโลกโมฬีจากวัดร้างให้เป็นพระอารามที่ถูก ต้องตามกฏหมายและได้แต่งตั้งให้พระญาณสมโพธิเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ปี พ.ศ.2545 ได้มีการเททองหล่อรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เศียรพระประธานในวิหารวัดโลกโมฬี
ข้อมูลเอกสารบันทึกไว้ว่า
๑. จุลศักราช ๘๘๙ (พ.ศ. ๒๐๗๐) พญาเมืองเกศเกล้า ได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี พ.ศ.๒๐๗๑ ให้สร้างมหาเจดีย์และวิหารวัดโลกโมฬี พ.ศ. ๒๐๘๘ เมื่อพญาเมืองเกศเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ ข้าราชการ ขุนนางได้ทำพิธีศพที่วัดแสนพอก ได้ถวายพระเพลิงแล้วนำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดโลกโมฬี นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ
"ปีไก้ ศักราช ๘๘๙ ตัว สร้างบ้านหัวเวียงหื้อเป็นอารามขึ้นชื่อว่า วัดโลกโมฬี กับหื้อสร้างวัดบุญเกียร สร้างวิหารปีเปิกไจ้ศักราช ๘๙๐ ตัว ก่อมหาเจดีย์ และปกพระวิหารวัดโลกโมฬี.เอากระดูกไปบรรจุไว้ยัง วัดโลกโมฬี ฝ่ายแจ่งหนเหนือทางนอกหั้น"
หลังจากนั้นเสนาอามาตย์ได้ทูลเชิญ พระนางจิรประภา ราชธิดาขึ้นครองราชย์ ( พ.ศ. 2088-2089. แต่มีบางตำนานให้ความเห็นว่า พระนางจิรประภา น่าจะเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกศเกล้า เพราะมีบันทึกชื่อของพระนางว่า พระนางจิระประภามหาเทวี ซึ่งก็น่าจะเป็นชื่อของพระองค์) .
๒. สมัยพระนางจิรประภาเทวีเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๘๘-๒๐๘๙) สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยา ยกทัพขึ้นมาหมายจะตีเมืองเชียงใหม่ พระนางจิรประภาแต่งเครื่องบรรณาการไปถวาย และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชา เสด็จมาทำบุญที่กู่พระเมืองเกศเกล้าที่วัดโลก พระองค์ได้พระราชทานราชทรัพย์ทำบุญไว้กับกู่พญาเกศอีก ๕,000 เงิน กับผ้าทรง ๑ ผืนและพระราชทานรางวัลให้กับเจ้านาย ขุนนางที่รับเสด็จ.(ตำนานพื้นเมือง หน้า ๑๘๘)
๓. พ.ศ. ๒๑๔๙(๙๖๗) กษัตริย์เชียงใหม่ชื่อมังทรานรธามัยคุย(ราชบุตรพระเจ้าบุเรงนอง ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๒๒-๒๑๕๐) ได้เมตตาธรรม พระมหาสมเด็จวัดโลกไว้กับวัดวิสุทธาราม(ตามรอยโครงมังทรา)
๔. พ.ศ. ๒๑๘๒ พระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา อาราธนาพระสวามี ถวายทานในสมเด็จพระสังฆราชาราชโมฬีเจ้า วัดทุกวัดเป็นราชฐาน ทำบุญเดือนยี่เป็ง บูชาพระพุทธรูป พระธาตุเจ้า และพระภิกษุสามเณร ตามพระราชประเพณีแห่งเมืองเชียงใหม่ (ตำนานเมืองเชียงใหม่)
๕. พ.ศ. ๒๔๔๐ "...วัดโลก ตั้งอยู่แขวงบ้านทับม่าน ขึ้นแขว้นเจ็ดยอด เจ้าอธิการชื่อ ตุ๊พวง นิกายเชียงใหม่ ยังไม่ได้เป็นอุปัชฌายะ รองอธิการชื่อ ตุ๊คำ"
๖. เจ้าแก้วนวรัฐ ได้บูรณะวัดโลก เหนือเวียง และสร้างพระพุทธรูปพร้อมทั้งธรรมมาสน์(จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น