2 ธ.ค. 2554

ฝาง จ.เชียงใหม่ เรื่องราวจากป้ายจารึก

                          พุทธศักดิราช  ๒๑๗๒-๒๑๘๐
พระเจ้าฝางอุดมสินพระนามเดิมว่า  พระยาเชียงแสน เป็นราชบุตรของเจ้าเมืองเชียงแสน
ได้เสด็จมาปกครองเป็นเจ้าเมืองฝาง  ในปีพุทธศักดิราช  ๒๑๗๒  ศักดิ์ราชได้ ๙๙๐ ตัว เดือน ๘ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำ  พร้อมด้วยพระชายา ซึ่งมีพระนามว่า พระนางสามผิว เป็นพระราชบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง (เมืองเวียงจันทร์) ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่า   พระองค์ ทรงมีผิวพระวรกายถึงสามผิว กล่าวคือในตอนเช้าจะมีผิวสีขาวดุจปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีผิวสีแดงดั่งลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายจะมีสีชมพูระเรื่อ ประหนึ่งดอกปุณฑริกา   ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชธิดาทรงพระนามว่า พระนางมาลิกา ในขณะที่พระองค์ทรงปกครองเมืองฝางอยู่นั้น เมื่อฝางยังอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของพม่า
            ทำให้พระเจ้าฝางอุดมสินทรงมีพระราชดำริ ที่จะกอบกู้เอกราชเมืองฝางคืนจากพม่า โดยได้ซ่องสุมฝึกกำลังพล ตระเตรียมอาวุธและเสบียงกรัง  ไม่ยอมส่งส่วย  ทั้งยังฝ่าฝืนขัดคำสั่งของพม่า  จนความทราบถึงเมืองพม่า  ว่าเมืองฝางคิดจะแข็งเมืองไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น พระเจ้าภาวะมังทาสุทโธธรรมราชา ที่ครองเมืองอังวะกษัติรย์พม่า  จึงได้ยกทัพหลวงลงมาตีพม่าในปีพุทธศักราช   ๒๑๗๖  ได้ ๙๙๔ ตัว  พระเจ้าฝางอุดมสินได้นำทัพเข้าต่อสู้
ป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน  ทำให้ พระเจ้าภาวะมังทาสุทโธธรรม ไม่สามารถเข้าตีเมืองฝางได้    พระเจ้าภาวะทาสุทโธธรรมราชา จึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่ โดยให้ทหารล้อมเมืองฝางไว้พร้อมกับตั้งค่ายบัญชาการรบที่เวียงสุทโธ  และระดมยิงระบุ (ปืนใหญ่)  เข้าโจมตีเมืองฝาง  ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย  ประชาชนเสียขัวญ  ทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายลงเป็นอันมาก
        พม่าล้อมเมืองฝางไว้เป็นเวลานาน ถึง  ๓ ปี กับ ๖ เดือน  ทำให้เสบียงอาหารที่เก็บไว้ในเมืองฝางที่เก็บสะสมไว้หมดลง ประชาชนอดอยาก  พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิว  คิดว่าพระองค์ท่านเป็นต้นเหตุแหงความเดือดร้อน ในการที่จะกอบกู้บ้านเมือง แต่ทรงทำการไม่สำเร็จ  พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพ  เพื่อปกป้องชาวเมืองฝางให้พ้นจากการเข่นฆ่าของทหารพม่าและความอดอยากเดือนร้อน  ดังนั้นในพุทธศักราช ๒๑๘๐ ศักราชได้ ๙๙๘ ตัว เดือน ๖เหนือ ขึ้น ๕ค่ำ  พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวจึงได้สละพระชมน์ชีพ  ด้วยการกระโดดลงน้ำบ่อซาววา  และเป็นเวลาเดียวกันที่ทหารพม่าตีเมืองฝางได้สำเร็จ  เมื่อพระเจ้าภาวะมังสุทโธธรรมราชาทราบถึงวีรกรรมของทั้งสองพระองค์ท่าน  พระเจ้าภาวะมังทาสุทโธธรรมราชา  จึงมีคำสั้งให้ทหารพม่าไม่ให้ทำร้ายประชาชนชาวเมืองฝาง  จากนั้นพระองค์จึงได้ยกทัพกลับกรุงอังวะ ประเทศ พม่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น